แชร์

Cybersecurity ในไทยยัง ‘อ่อนแอ’ ท่ามกลางภัยคุกคามที่ซับซ้อนขึ้นเรื่อย ๆ โดยเฉพาะจาก AI

อัพเดทล่าสุด: 24 มิ.ย. 2025
90 ผู้เข้าชม

ภูมิทัศน์ด้านความปลอดภัยทางไซเบอร์ของประเทศไทยยังคงเต็มไปด้วยความไม่แน่นอน องค์กรต่างต้องเผชิญกับภัยคุกคามที่เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วทั้งในด้านปริมาณและความซับซ้อน ข้อมูลจากสำนักงานความมั่นคงปลอดภัยทางไซเบอร์แห่งชาติ (NCA) พบว่าระหว่างเดือนมกราคมถึงพฤษภาคม 2568 องค์กรต่าง ๆ ในประเทศไทยประสบกับเหตุการณ์ทางไซเบอร์มากกว่า 1,002 เหตุการณ์ ความท้าทายที่สำคัญ ได้แก่ ภัยคุกคามใหม่ที่เกิดจาก AI และการขาดแคลนบุคลากรด้านความปลอดภัยทางไซเบอร์

มีการประเมินไว้ว่าความเสียหายจากอาชญากรรมไซเบอร์ทั่วโลกในปัจจุบันสูงกว่า 7 ล้านล้านเหรียญสหรัฐฯ และมีแนวโน้มจะเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องในอีกไม่กี่ปีข้างหน้า การประเมินนี้บ่งชี้ให้เห็นว่าภาคธุรกิจยังต้องเผชิญปัญหาสำคัญด้านภัยคุกคามไซเบอร์ที่มีการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง คลาวด์แฟลร์ (Cloudflare) ได้เผยแพร่รายงาน Cloudflare Signals Report ซึ่งชี้ให้เห็นภาพรวมที่ชัดเจนของภูมิทัศน์ภัยคุกคามทางไซเบอร์ที่ทวีความรุนแรงมากขึ้น และเพื่อช่วยให้องค์กรเข้าใจถึงภัยคุกคามดิจิทัลและเสริมสร้างความมั่นคงทางไซเบอร์

 

 

ผลการศึกษาพบว่าในปีที่ผ่าน Cloudflare สามารถสกัดกั้นการโจมตี DDoS ได้มากกว่า 20.9 ล้านครั้งซึ่งเพิ่มขึ้นถึง 50% จากปีก่อนหน้า นอกจากนี้ องค์กรในประเทศไทยมากกว่าครึ่ง (63%) ประสบปัญหาการละเมิดข้อมูล แม้หน่วยงานภาครัฐจะมีคำแนะนำไม่ให้จ่ายค่าไถ่ แต่ 52% ขององค์กรที่ถูกละเมิดก็ยังยอมจ่ายค่าไถ่ สถานการณ์นี้สะท้อนความเป็นจริงที่น่ากังวลที่องค์กรไทยกำลังเผชิญ นั่นคือขนาดและความซับซ้อนของภัยคุกคามไซเบอร์กำลังล้ำหน้าระบบการป้องกันแบบเดิม ๆ

แม้ว่ารัฐบาลไทยได้เปิดตัวโครงการ 'ปีแห่งความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์: Cyber Security Year' ซึ่งเป็นความร่วมมือระหว่างภาครัฐและเอกชนมากกว่า 100 แห่ง เพื่อรับมือภัยคุกคามที่เพิ่มขึ้น แต่ความซับซ้อนของภูมิทัศน์ด้านความปลอดภัยไซเบอร์ที่เพิ่มขึ้นในปัจจุบันนั้นแสดงให้เห็นว่า ความแข็งแกร่งทางไซเบอร์ไม่ได้เป็นความรับผิดชอบของแผนกไอทีเพียงลำพังอีกต่อไป แต่มันคือกลยุทธ์ที่ผู้บริหารระดับสูงทั้งหมดจำเป็นต้องเข้ามามีส่วนร่วม

โซลูชันที่ทันสมัยแก้ปัญหาใหม่ ๆ ที่เกิดขึ้น: ใช้ AI สู้กับ AI

การทำงานจากระยะไกลและการใช้คลาวด์ที่เพิ่มขึ้นทำให้พื้นที่การโจมตีของภัยคุกคามภายในองค์กรขยายวงกว้างและตรวจจับได้ยากขึ้น ผู้โจมตีกำลังพุ่งเป้าไปที่การโจมตีแบบอัตโนมัติที่สามารถหลบหลีกการตรวจจับและใช้ประโยชน์จากช่องโหว่ต่าง ๆ ได้เร็วเกินกว่าที่องค์กรจะรับมือทัน ไม่ว่าจะเป็นการใช้ข้อมูลประจำตัวที่ขโมยมา (credential stuffing) โจมตีด้วยบอต ไปจนถึงการใช้ AI ควบคุมการโจมตี DDoS ปัจจุบัน ความพยายามเข้าสู่ระบบโดยใช้ข้อมูลประจำตัวที่ขโมยมา 94% เกิดขึ้นโดยบอตที่สามารถทดสอบรหัสผ่านหลายพันรหัสต่อวินาที นอกจากนี้ ระบบอัตโนมัติที่ใช้ AI เป็นตัวขับเคลื่อน ยังเป็นสาเหตุหลักของการโจมตี DDoS ที่สร้างผลกระทบสูงอย่างต่อเนื่อง ซึ่งมักเกิดจากบอตเน็ตและอุปกรณ์ IoT ที่ไม่ปลอดภัยจำนวนมาก

 

 

Generative AI ยังช่วยให้อาชญากรสามารถสร้างตัวตนเสมือนจริงได้อย่างแนบเนียน โดยผสมผสานข้อมูลจริงและเท็จเพื่อหลบเลี่ยงระบบยืนยันตัวตนแบบเดิม รายละเอียดบุคคลที่สร้างด้วย AI, deepfakes และการโจมตีอัตโนมัติด้วยข้อมูลประจำตัวที่ขโมยมา ทำให้ตรวจจับตัวตนปลอมเหล่านี้ได้ยากขึ้น 

ภัยคุกคามที่ควบคุมด้วย AI ต้องใช้การป้องกันที่ใช้พลังจาก AI เช่นกัน เมื่อ generative AI เข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของเวิร์กโฟลว์ต่าง ๆ องค์กรจำเป็นต้องบูรณาการการตรวจจับภัยคุกคามที่เสริมประสิทธิภาพด้วย AI ระบบป้องกันอัตโนมัติ และแนวทางการรักษาข้อมูลประจำตัวที่รัดกุมเข้าด้วยกัน เพื่อให้มั่นใจได้ว่าสามารถรับมือกับภัยคุกคามได้อย่างเต็มที่ การบูรณาการ AI เข้ากับมาตรการด้านความปลอดภัยโดยรวม จะช่วยให้องค์กรมองเห็นภาพรวมด้านความปลอดภัยได้ครอบคลุมและชัดเจนมากขึ้น และใช้ประโยชน์จากการตรวจจับภัยคุกคามที่ขับเคลื่อนด้วย AI เพื่อวิเคราะห์ชุดข้อมูลขนาดใหญ่ ตรวจหาความผิดปกติ ต่อต้านภัยคุกคามรูปแบบใหม่ ๆ ได้แบบเรียลไทม์

การตรวจสอบจุดบอดต่าง ๆ : การนำเครื่องมือและเทคโนโลยี AI ที่ไม่ได้รับอนุญาตมาใช้ (Shadow AI), ความเสี่ยงของซัพพลายเชน, ภัยคุกคามทางภูมิรัฐศาสตร์ และ ความพร้อมรับการโจมตีจากควอนตัม (Post Quantum) 

ภัยคุกคามไม่ได้หยุดอยู่เพียงเท่านี้ แต่ยังมีอุปสรรคมากมายที่องค์กรต้องเผชิญในเรื่องของความปลอดภัยในปัจจุบัน เช่น การที่พนักงานนำเครื่องมือ AI มาใช้อย่างรวดเร็วจนทีมงานด้านความปลอดภัยตามไม่ทัน ทำให้เกิดจุดบอดที่เป็น Shadow AI ซึ่งสามารถหลบหลีกการควบคุมและการต้องทำตามกฎระเบียบแบบเดิม นอกจากนี้ ความตึงเครียดทางภูมิรัฐศาสตร์ยังลุกลามเข้าสู่โลกไซเบอร์ หลายองค์กรประมาทต่อภัยคุกคามและคิดว่าตนเองมีการควบคุมดีแล้ว ในขณะที่การโจมตีที่มีรัฐหนุนหลังกำลังทำให้อุตสาหกรรมต่าง ๆ หยุดชะงัก และเผยให้เห็นช่องโหว่ร้ายแรงในระบบซัพพลายเชน

ในขณะเดียวกันการนำเทคโนโลยีการเข้ารหัสหลังควอนตัม (post-quantum cryptography) มาใช้ยังคงเป็นไปอย่างไม่ทั่วถึง แม้ปริมาณการรับส่งข้อมูล HTTPS ที่มีการรักษาความปลอดภัยด้วยการเข้ารหัสแบบ quantum-safe จะเพิ่มขึ้นจาก 3% เป็น 38% ในเดือนมีนาคม 2025 เมื่อเทียบกับปีที่ผ่านมาก็ตาม การนำมาใช้อย่างไม่ทั่วถึงนี้สะท้อนให้เห็นถึงความล่าช้าที่น่ากังวลในด้านความพร้อมขององค์กรธุรกิจ ทั้งนี้การประมวลผลควอนตัมกำลังเข้าใกล้จุดที่สามารถเจาะการเข้ารหัสแบบเดิมได้ ผู้นำองค์กรจึงต้องเร่งนำ post-quantum cryptography มาใช้ปกป้องข้อมูลในระยะยาวและตอบสนองต่อข้อกำหนดด้านความปลอดภัยที่เปลี่ยนแปลงตลอดเวลา

ซัพพลายเชนยังคงเป็นจุดอ่อนที่สำคัญที่สุดจุดหนึ่ง การที่องค์กรต้องพึ่งพาสคริปต์จากผู้ให้บริการภายนอกหลายสิบไปจนถึงหลายร้อยรายการ หากมีผู้ให้บริการเพียงรายเดียวถูกบุกรุกก็สามารถเปิดประตูให้ผู้โจมตีเข้าสู่องค์กรได้ ข้อมูลจาก World Economic Forum พบว่า 54% ของบริษัทขนาดใหญ่ระบุว่าการบริหารความเสี่ยงจากผู้ให้บริการภายนอกเป็นความท้าทายอันดับต้น ๆ ของการสร้างความแข็งแกร่งทางไซเบอร์

ท่ามกลางความเสี่ยงใหม่ ๆ ที่เกิดขึ้น Zero Trust จึงไม่ใช่ทางเลือกอีกต่อไป - แต่เป็นสิ่งจำเป็นในการอุดช่องโหว่เหล่านี้

 

Zero Trust คือมาตรฐานใหม่ที่ใช้กันทั่วไป

รหัสผ่านคงที่และการยืนยันตัวตนแบบหลายปัจจัย (Multi-Factor Authentication: MFA) ไม่เพียงพออีกต่อไปในโลกที่เต็มไปด้วยภัยคุกคาม เช่น การไฮแจ็กเซสชัน (Session hijacking) การฟิชชิ่งที่ซับซ้อน และการเลี่ยง MFA องค์กรจึงต้องพัฒนาไปสู่สถาปัตยกรรม Zero Trust อย่างเต็มรูปแบบ รวมถึงการยืนยันตัวตนแบบไร้รหัสผ่าน และการควบคุมการเข้าถึงตามระดับความเสี่ยงอย่างต่อเนื่อง

เป็นที่น่ายินดีที่ 65% ขององค์กรได้ลงทุนหรือมีแผนจะลงทุนในโซลูชัน Zero Trust แล้ว และ 32% วางแผนจะลงทุนในปีนี้ องค์กรต่างๆ ของไทยสามารถปิดช่องว่างนี้ได้ด้วยการพัฒนากลยุทธ์ Zero Trust โดยเปลี่ยนจากการควบคุมแบบแยกส่วน ไปสู่การสร้างชั้นความปลอดภัยที่รวมเป็นหนึ่งเดียวครอบคลุมทั้งองค์กร เปลี่ยนจากที่เคยเน้นและให้ความสำคัญกับการจัดการการเข้าถึงจากระยะไกลที่ปลอดภัยเพียงอย่างเดียว เป็น การรวมนโยบายด้านการระบุตัวตน ข้อมูล และการรับส่งข้อมูล จากทุกสภาพแวดล้อมการใช้งานมาไว้เป็นหนึ่งเดียว

เป็นเรื่องน่ายินดีที่ผู้นำองค์กรหลายรายเปลี่ยนมาใช้แพลตฟอร์มที่ได้รับการออกแบบให้มีความยืดหยุ่น รองรับการใช้งานในระดับโลก ตอบสนองอัตโนมัติ และสามารถมองเห็นสถานการณ์แบบเรียลไทม์ นี่คือคุณค่าที่แท้จริง ไม่ใช่แค่การลดความเสี่ยง แต่ยังช่วยให้องค์กรมีความคล่องตัว องค์กรที่จะก้าวหน้าคือองค์กรที่ฝังแนวคิด Zero Trust ลงในรากฐานดิจิทัล และทำให้ Zero Trust เป็นส่วนหนึ่งของการพัฒนาทางดิจิทัล การขยายขนาดการทำงาน และการสร้างสรรค์สิ่งใหม่ได้อย่างปลอดภัย

การปฏิบัติตามกฎระเบียบ, ความต่อเนื่อง และความปลอดภัย ต้องถูกออกแบบตั้งแต่เริ่มต้น

ท้ายที่สุดแล้วการปฏิบัติตามกฎระเบียบไม่สามารถเป็นการทำงานเชิงรับที่ไม่ได้มีการวางแผนได้อีกต่อไป ผลการศึกษาของเราพบว่า 63% ขององค์กรไทยใช้มากกว่า 5% ของงบประมาณด้านไอทีเพื่อจัดการกับการทำตามกฎระเบียบและข้อกำหนดต่าง ๆ ในขณะที่ 59% รายงานว่าใช้เวลามากกว่า 10% ของสัปดาห์ทำงานเพื่อทำให้การดำเนินงานเป็นไปตามข้อกำหนดด้านกฎระเบียบและการรับรองของอุตสาหกรรม

เมื่อปีที่ผ่านมา คณะกรรมการผู้เชี่ยวชาญของสำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล (PDPC) ได้สั่งปรับบริษัทผู้ควบคุมข้อมูลแห่งหนึ่งเป็นจำนวนเงิน 7,000,000 บาท จากเหตุการละเมิดข้อมูลส่วนบุคคล ต่อมาบริษัทแห่งนั้นได้รับคำสั่งให้แต่งตั้งเจ้าหน้าที่คุ้มครองข้อมูล (Data Protection Officer) ให้ปรับปรุงมาตรการรักษาความปลอดภัยข้อมูล และจัดการอบรมด้านการปกป้องข้อมูลให้กับพนักงานของบริษัท การปรับและคำสั่งบังคับใช้เพิ่มเติมต่าง ๆ แสดงให้เห็นว่าคณะกรรมการผู้เชี่ยวชาญฯ พร้อมบังคับใช้มาตรการตามกฎระเบียบอย่างเต็มรูปแบบและในระยะยาวต่อผู้ละเมิดพระราชบัญญัติคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล (PDPA)

นอกเหนือจากการหลีกเลี่ยงโทษทางกฎหมายแล้ว การสร้างมาตรการรักษาความปลอดภัยที่แข็งแกร่งยังส่งผลกว้างขึ้นในเรื่องของการคงไว้ซึ่งความเชื่อมั่น ชื่อเสียง และความแข็งแกร่งคล่องตัวในระยะยาว ในสภาพแวดล้อมที่ค่าใช้จ่ายหรือค่าปรับที่ต้องเสียไปหากละเว้นการดำเนินการที่เหมาะสมเพิ่มสูงขึ้น


ในยุคที่เต็มไปด้วยการโจมตีที่ขับเคลื่อนด้วย AI ความต้องการด้านกฎระเบียบเพิ่มสูง การเชื่อมโยงทางดิจิทัลที่ซับซ้อน ความมั่นคงปลอดภัยทางไซเบอร์ไม่ควรถูกแยกออกเป็นเรื่องเฉพาะฝ่าย ไม่ควรที่ต้องเป็นฝ่ายตั้งรับเพียงอย่างเดียว และไม่ใช่เรื่องที่จะมาคิดทีหลังได้อีกต่อไป ความปลอดภัยไม่สามารถรอได้และธุรกิจก็เช่นกัน นอกจากการตอบสนองต่อกับภัยคุกคาม องค์กรจำเป็นต้องสร้างความยืดหยุ่นไว้ในกระบวนการดำเนินงาน นวัตกรรมและการเติบโต อนาคตจะเป็นขององค์กรที่ดำเนินการอย่างเด็ดขาดด้วยการปรับใช้ระบบป้องกันที่ขับเคลื่อนด้วย AI รักษาความปลอดภัยให้กับห่วงโซ่อุปทาน เร่งความพร้อมต่อภัยในยุคหลังควอนตัม และผสานแนวคิด Zero Trust ให้ครอบคลุมทั่วทั้งระบบ และควรต้องดำเนินการทันที เพราะในยุค AI ความปลอดภัยไม่ใช่ทางเลือก แต่เป็นรากฐานที่สำคัญ

 

Cloudflare / FAQ Co., Ltd. (PR)


บทความที่เกี่ยวข้อง
Cloudflare เปิดตัว Cloudflare for AI ชุดเครื่องมือเพื่อปกป้องการใช้ AI เต็มรูปแบบ เหมาะสำหรับธุรกิจทุกขนาด
ชุดเครื่องมือที่มีความสามารถในการรักษาความปลอดภัย AI ที่มีประสิทธิภาพสูงนี้ ช่วยให้บริษัททุกขนาดปกป้องการขึ้นระบบ การใช้ข้อมูล และความสมบูรณ์ของโมเดล AI ได้อย่างง่ายดาย ปลอดภัย และเชื่อถือได้
27 มี.ค. 2025
วิกฤตไซเบอร์กำลังจะมา! 6 เทรนด์ที่การ์ทเนอร์เตือนให้ระวังในปี 2568
การ์ทเนอร์ อิงค์ เผยเทรนด์ความปลอดภัยทางไซเบอร์ที่สำคัญในปี 2568 โดยเทรนด์เหล่านี้เป็นผลมาจากวิวัฒนาการของ generative AI, การกระจายศูนย์ทำงานดิจิทัล, การพึ่งพากันในห่วงโซ่อุปทาน, การเปลี่ยนแปลงกฎระเบียบ, การขาดบุคลากรที่มีคุณสมบัติเหมาะสม และภูมิทัศน์ภัยคุกคามที่เปลี่ยนแปลงตลอดเวลา
27 มี.ค. 2025
Alibaba จับมือ SAP ดันองค์กรสู่ยุคดิจิทัลด้วยพลัง AI และ Cloud!
Alibaba Group และ SAP ประกาศความร่วมมือเชิงกลยุทธ์ ผสานจุดแข็งระหว่างซอฟต์แวร์องค์กรชั้นนำจาก SAP กับเทคโนโลยีคลาวด์และ AI ระดับโลกจาก Alibaba Cloud เพื่อเร่งการเปลี่ยนผ่านองค์กรสู่ดิจิทัล
31 พ.ค. 2025
เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ นโยบายคุกกี้
เปรียบเทียบสินค้า
0/4
ลบทั้งหมด
เปรียบเทียบ
Powered By MakeWebEasy Logo MakeWebEasy